Sunday, August 5, 2007

คนพ่นสเปรย์ใน “Hairspray”

เลิกแอบเสียที วิทยา แสงอรุณ 4-5 ส.ค. 2007 เซคชั่น MetroLife จาก นสพ. ผู้จัดการรายวัน วันเสาร์

หนังเรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวกับเกย์ แต่เหล่าเกย์คงไปดูกันตรึม ผมคิดว่า คงเป็นเพราะ (1) เป็นหนังเพลง (2) เป็นหนังคุณภาพ และ (3) คงต้องมีคนอยากรู้แน่ๆ ว่า หนุ่มห้าวกวนบาทาชื่อ “จอห์น ทราโวลต้า” ไหง ยอมรับหญิงร่างยักษ์ในเรื่อง แล้วมันจะออกมายังไง?

“Hairspray” (ชื่อไทยว่า โอ๊ะโอ๋! คนจะดัง...ขวางไม่อยู่) เคยเป็นหนังมาก่อนเมื่อปี 1988 ต่อมาเป็นละครเพลงบรอดเวย์กวาดรางวัลมโหฬารในปี 2002 ปัจจุบันก็ยังเล่นอยู่ แต่คนดูเริ่มซาๆ แล้ว พอมาเป็นหนังอีกครั้งและดังเปรี้ยงปร้าง ไม่ต้องเดาเลยล่ะครับ ตอนนี้ผู้คนแห่ไปดูละคร ต่อชีวิตโปรดักชั่นนี้ออกไป
อีกอย่างน่ายินดี

เรื่องราวย้อนยุคไปในปี 1962 ณ เมืองบัลติมอร์ รัฐแมรีแลนด์ (เมืองที่มีมหา’ ลัย John Hopkins) สาวน้อยวัยใสร่างปุ้มปุ้ยคนหนึ่งชื่อ “เทรซี่” ฝันอยากเป็นนักเต้นในรายการทีวีแดนซ์ระห่ำภาคกลางวันของวัยรุ่น ในยุคนั้นคนดำยังถูกกีดกัน และเป็นประชากรชั้นสอง คุณแม่ “เอ็ดนา” ของเธอเองก็ยังไม่สนับสนุนเทรซี่ลูกสาวสุดที่รัก พร้อมคอยเตือนว่าหนูควรดูสังขารตัวเองไว้นะลูก และหัดเจียมตัวเอาไว้

ในเรื่องนี้คุณจอห์นเล่นเป็นคุณแม่คนนั้น เป็นผู้หญิง ไม่ได้เป็นกะเทย ในหนังเวอร์ชั่นแรก บทนี้ก็แสดงโดยนักแสดงชายซึ่งเป็นที่รู้จักกันในวงการ เพราะเขาชอบบทแรงๆ หลุดโลก “คุณดิไวน์” (Divine) ซึ่งปกติก็ชอบแต่งหญิงเป็นประจำ ในเรื่องเดียวกันนี้คุณดิไวน์ยังรับบทผู้ชายอีกด้วย คุณคนนี้ แกมีจุดเด่นคือน้ำหนักตัวมหึมา และเพราะโรคอ้วนนี่แหละ ทำให้เขาต้องจบชีวิตลงก่อนเวลาอันควร

เรื่องนักแสดงชายแปลงกายเป็นหญิง ที่จริงไม่ใช่เรื่องใหม่ คุณผู้อ่านคงจำคุณเอ็ดดี้ เมอร์ฟีย์ นักแสดงผิวหมึกที่แปลงร่างเป็นคุณยายร่างยักษ์มาก่อนได้ แต่การนำนักแสดงชายมารับบทหญิงก็ถือเป็นการตลาดที่เยี่ยมยอดไม่น้อยนะครับ โดยเฉพาะการจับนายจอห์น ที่เคยเล่นบทโหดบทห้าวมาก่อนมาแต่งหญิง

ใน Hairspray ผู้ชมทั้งหลายก็ยังคงกังขาอยู่ดีว่า ทำไมถึงเลือกจอห์น ทราโวลต้า? ซึ่งจริงๆ แล้ว ตัวเขาเอง ก็ตั้งคำถามนี้เหมือนกันว่า ทำไมต้องเป็นตูมารับบทนี้?

ผมก็สงสัยเหมือนกัน ถ้าเป็นผู้หญิงร่างยักษ์ตัวจริงมารับบทนี้ จะทำให้หนังเรื่องนี้ มีอะไรแตกต่างออกไปหรือเปล่า?

จากรายงานข่าวต่างๆ คุณจอห์นเล่าว่า เขาต้องใช้เวลาถึงหนึ่งปีกับสองเดือน ครุ่นคิดให้รอบคอบว่าจะเอายังไงดี เขาเจรจาต่อรองไปมาจนในที่สุด เขามานั่งคิดดู ก่อนหน้านี้ เขาเคยปฏิเสธบทนำในเรื่อง Chicago ละครเพลงบรอดเวย์อีกเรื่องที่มาทำเป็นหนังเพลงจนได้รางวัลออสการ์ และทำให้ฮอลลีวู้ดหันมาทำหนังเพลงอีกหลังจากซบไปนาน

ตอนนั้นจอห์นรู้สึกเสียดายที่ปฏิเสธบทนั้นซึ่งคุณริชาร์ด เกียร์ได้ไป โปรดิวเซอร์เรื่อง Chicago กับ Hairspray ซึ่งเป็นทีมเดียวกันมาเสนอบทใหม่นี้อีก แล้วทำไมจะไม่รับอีกส่วนที่เขายังลังเลก็เพราะเขาไม่ได้เล่นบท “Sing & Dance” มากกว่า 30 ปีแล้ว หลังจากแจ้งเกิดอย่างเต็มตัวในหนังเรื่อง “Grease”

คุณผู้ชมที่ไปดู Hairspray มาแล้ว คงทึ่งในความสามารถของคุณจอห์น ทั้งจริตจกร้าน น้ำเสียง สำเนียงพูด ลีลาการเดิน การเต้น บางมุมผมดูแล้วก็อดไม่ได้ที่จะนึกถึงคุณพิกกี้ หมูสาวแสนสวยจากเรื่องหุ่นมหาสนุก (“The Muppet Show” รายการหุ่นมือที่มีกบสีเขียวชื่อเคอร์มิท เป็นตัวเอก) คุณจอห์นบอกว่า ด้วยความที่เติบโตมาในหมู่ผู้หญิงและมีผู้หญิงที่ชื่นชอบอย่างเอลิซาเบธ เทลเล่อร์ เขาจึงไม่รู้สึกลำบากอะไรที่เลียนแบบท่าทางของผู้หญิง

ความสำเร็จของ Hairspray ภาคนี้ คงทำให้อีกหนึ่งจอห์นมีความสุขไม่น้อย นั่นคือ “คุณจอห์น วอเตอร์ส” (เกย์เปิดเผย) ส่วนผู้กำกับฯ เรื่องนี้คือคุณอาดัม แชงค์แมน (เกย์เปิดเผยเช่นกัน) คุณจอห์น วอเตอร์สเคยกำกับภาคที่แล้ว และในภาคนี้เขาเปิดทางให้คุณอาดัม ทำในสิ่งที่ต้องการโดยไม่ขัดอะไรเลย

ตอนแรกเลยคุณอดัม ซึ่งอยากกำกับหนังเรื่องนื้มากโดนปฎิเสธอย่างไม่เหลือเยื่อใย ทำเอาเขาถึงกับอึ้งและเซ็งสุดๆ เพราะโปรดิวเซอร์เกิดเปลี่ยนใจอยากจะยกทีมบรอดเวย์มาทำหนังเรื่องนี้ซะเลย แต่แล้วโชคก็เข้าข้างเขา ทีมบรอดเวย์จัดตารางไม่ลงตัว งานชิ้นนี้เลยกลับมาอยู่ในมือเขาอีกครั้ง

ตอนรับโปรเจกต์นี้ เขามีเรื่องใหญ่รออยู่ นั่นคือ จะหาใครมารับบท เด็กน้อยหน้าใสตัวเอกของเรื่อง เขาตั้งโจทย์ไว้ว่าจะต้องเป็นนักแสดงหน้าใหม่ อายุไม่เกิน 18 ร้องเพลง เต้นรำ และตัวอ้วนกลม บอกไปอย่างนี้ ทีมงานก็ส่ายหัวเพราะหายาก หลังจากเปิดออดิชั่นไป วันหนึ่งเขากำลังทบทวนคลิปวิดีโออยู่ ก็ได้พบกับนิกกี้ บรอนสกี้ (Nikki Bronsky)

ความจริง ชีวิตของนิกกี้กับบทที่เธอรับไม่ได้แตกต่างกันเท่าไหร่ นิกกี้เป็นสาวน้อยตัวเตี้ยม้อต้อ ที่ฝันอยากเล่นบนนี้มานาน ผู้กำกับบอกว่า เขาชอบนิกกี้ เพราะเป็นสาวตุ้ยนุ้ยที่ภูมิใจและพอใจสรีระของตัวเอง ในหนัง ผมคิดว่าคุณจะพอใจเช่นกัน เพราะท่าเต้นใดๆที่สาวน้อยร่างระหงทำได้ นิกกี้ทำได้หมด บางท่าเซ็กซี่กว่าอีกต่างหาก

นิกกี้เล่าว่า งานนี้คือฝันที่เป็นจริง เธอเคยไปออดิชั่นโปรดักชั่นบรอดเวย์มาก่อน แต่ด้วยความที่อายุยังน้อยเกินไป เลยชวด เธอมารู้ข่าวเรื่องออดิชั่นทางอินเทอร์เน็ต และไม่คิดไม่ฝันว่า ผู้กำกับจะเลือกเธอ วันที่เธอได้รับข่าวการว่างจ้าง เธอยังคงทำงานเก็บตังค์ค่าขนมด้วยการเป็นเด็กตักไอติมอยู่เลย

Hairspray เป็นหนัง “feel good” อีกเรื่องที่ผู้ชมคงสัมผัสได้ถึงความแตกต่างในตัวมนุษย์ เช่น การเป็นคนอ้วน และไม่เข้าบรรทัดฐานความสวยของสังคม การเป็นคนผิวดำที่ทำให้คนเกลียดกันและกีดกันคนด้วยกัน

***เรียนท่านผู้อ่านบนบล็อค กำลังจะย้ายบล็อคอีกครั้งครับ
บล็อคใหม่มี support เรื่อง multimedia ดีกว่าบล็อคนี้ครับ
โปรดแวะไปดูนิดหนึ่งครับ หากสะดวกรบกวนคอมเม้นท์ทางอีเมล
vitadam2002@yaho.com หรือฝากไว้บนบล็อกด้วยครับ ขอบคุณมากครับ***

คลิก www.vitayas.wordpress.com

-end-

All rights reserved.

Sunday, July 29, 2007

เรื่องเซอร์ไพรซ์


เลิกแอบเสียที วิทยา แสงอรุณ 28-29 ก.ค. 2007 เซคชั่น MetroLife จาก นสพ. ผู้จัดการรายวัน วันเสาร์

นานๆ ทีจะมีอะไร “เซอร์ไพรซ์” ถึงสองเรื่องสองรส ถึงแม้จะต่างกรรมต่างวาระ และมาจากต้นตอคนละแหล่ง แต่ทั้งสองเหตุการณ์ก็สร้างปรากฏการณ์ “เซอร์ไพรซ์หมู่” ได้พอๆ กันเลยทีเดียว

เซอร์ไพรซ์แรก เป็นหนังต่างประเทศเรื่องหนึ่งที่เพิ่งเข้าฉาย (เริ่ม 26 ก.ค. ที่ลิโด้) จากเอกสารประชาสัมพันธ์ “The Best of Times” เป็น “หนังเกย์” เรื่องเยี่ยมจากไต้หวัน และเป็นหนังที่ได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี

ก่อนหน้าจะเข้าฉายจริง ในตอนค่ำๆ ของวันที่ 18 ก.ค. มีรอบพิเศษเปิดให้สมาชิกและเพื่อนพ้องชาวสีรุ้งขององค์กรบางกอกเรนโบว์ได้ชมฟรีกัน กิจกรรมนัดพบดูหนังฟรีนี้จัดกันเป็นประจำ ยามที่มีหนังเกย์ หรือหนังที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเกย์เข้ามาฉาย ค่ายหนังจะใช้กิจกรรมนี้ประชาสัมพันธ์ต่อๆ กันไป

วันนั้นผมติดงานตอนเย็น เลยอดร่วมประสบการณ์เกย์พร้อมใจไปดูหนังพร้อมกัน ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่อบอุ่นและน่าประทับใจทุกๆ ครั้ง เพราะจะได้เจอพี่น้อง เพื่อนฝูงยิ้มแย้มให้กัน ทักทายกัน

จากปากคำของเพื่อนสนิทสองคน คนแรกเล่าให้ฟังอย่างตื่นเต้นว่า “วันนั้นดูกันแน่นโรงมาก หลังจากดูจบ ทุกคนก็ออกมาพร้อมใบหน้าสับสน งงงวย และมีถามเหมือนๆ กันว่า มันเกย์ตรงไหน?”

อีกคนก็บอกมาด้วยอาการหงุดหงิดเล็กๆ ว่า “พี่พาเพื่อนต่างชาติไปดูด้วยแหละ พอออกมา ฮีก็ถามว่า Did I miss anything? (ผมพลาดไปหรือเปล่า?) เรางี้…หน้าแหกยับเยินเลยเพราะไปบอกเค้าไว้ว่า เป็นหนังเกย์ ให้มาดูกัน”

เขาเล่าต่ออีกว่า กระทั่งฉากจับมือ หรือฉากสบตากันก็ไม่มีให้เห็น แล้วตกลงหนังเรื่องนี้ เป็นหนังอะไรกันแน่?

เรื่อง The Best of Times มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับเพื่อนรักสองคนที่เติบโตมาด้วยกันในย่านชานเมืองของกรุงไทเป วัยรุ่นทั้งสองคนเข้าไปพัวพันกับแก๊งค์อันธพาล หลงระเริงในอำนาจและอาวุธปืน ในที่สุดก็ไปยิงหัวหน้าแก๊งค์คู่อริตาย จนต้องวิ่งหนีหัวซุกหัวซุน

ตามเอกสารข่าวของค่ายหนังที่บอกว่า เป็นภาพยนตร์ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมแห่งปี ตอนแรกก็สุดแสนจะดีใจนะครับที่หนังเกย์เรื่องหนึ่ง ได้กลายมาเป็นหนังยอดเยี่ยมแห่งปีของประเทศได้ แต่ในเอกสารก็ไม่ได้ระบุว่าปีไหน เลยนึกไปเองว่า คงเป็นปีที่แล้วหรือไม่ก็ปีนี้ละมั้ง

ก็เพิ่งมารู้ทีหลังนี่แหละครับว่า เป็นปี 2002 และตามบันทึกที่ไม่ได้มาจากค่ายหนัง หนังเรื่องนี้จัดอยู่ในประเภท crime/drama/thriller ไม่ได้มีคำว่า gay ซักคำ

ถึงแม้จะไม่เกย์ หรือไม่ได้เกี่ยวกับเกย์ แต่เพื่อนผู้รักการดูหนังทั้งหลายที่ผ่านประสบการณ์เซอร์ไพรซ์หมู่ในวันนั้นก็บอกต่อๆ กันมาด้วยว่า เป็นหนังที่มีเทคนิคการเล่าเรื่องที่ดี ถ่ายภาพได้ยอดเยี่ยม และนักแสดงมีฝีมือสมบทบาท

เซอร์ไพรซ์ที่สองเกิดขึ้นกับตัวผมเอง พร้อมเพื่อนฝูง ต่างกรรมต่างวาระ แต่แทบทุกๆ คนเห็นพ้องต้องกันว่า หนังเรื่อง “ตั๊ดสู้ฟุด” เป็นหนังที่ไม่ได้ว่าร้าย หรือทำร้ายกะเทยอย่างที่เป็นข่าว

ก่อนหน้านี้หนังเรื่องนี้ของค่ายจีทีเอช และหนังอีกเรื่องจากค่ายสหมงคลฯ (คู่แรด) โดนประท้วงจากกลุ่มเกย์ว่า อาจสร้างความเข้าใจผิด และทำให้คนดูประณามหยามเหยียดเกย์และกะเทย หนังเรื่อง ตั๊ดสู้ฟุด โปรโมทหนังด้วยฉากกะเทยรุ่นใหญ่สอนกะเทยรุ่นเล็กให้พูดจาหยาบคาย เรียกว่า ด่ากันเป็นชุด
ฟังแล้ว ผู้ใหญ่ไม่ปลื้ม

ผู้กำกับคือคุณจตุรงค์ พลบูรณ์ ให้ข่าวแก้สถานการณ์ในเวลาต่อมาว่า ฉากที่เป็นตัวอย่างหนังนั้น เป็นเพียงฉากเดียวที่มีเนื้อหาทำนองนั้น และมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความน่าสนใจ และอยากให้ผู้ไม่เห็นด้วยไปดูหนังกันก่อนแล้วค่อยวิจารณ์

โดยส่วนตัวแล้ว ผมไม่ชอบคำว่า ตุ๊ด แต่คำนี้ดูเหมือนจะเป็นคำที่ยอมรับกันโดยทั่วไปเมื่อเวลาผ่านไป สาวประเภทสองหลายๆ คนก็ไม่ว่าอะไรถ้าใครจะเรียกพวกหล่อนว่าตุ๊ด ผมคิดว่าจะไม่ไปดู แต่ถ้าไม่ดูก็จะไม่รู้ว่า หนังเรื่องนี้นำเสนออะไรกันแน่?

ต้องบอกว่า เป็นหนังไทยเกี่ยวกับกะเทยที่สร้างความเซอร์ไพรซ์อย่างใหญ่หลวงทีเดียวล่ะครับ เนื้อหาโดยรวมแล้ว ไม่ได้สร้างความน่าสมเพช ไม่ได้เหยียดกะเทย หรือทำกะเทยเป็นตัวตลกผิดมนุษย์จนน่ารังเกียจ แต่เรื่องนี้ กะเทยเป็นฮีโร่ที่ผดุงความยุติธรรมและนำความรักมาให้

คุณบอย (สิทธิชัย ผาบชมภู) รับบทกะเทยได้น่ารักน่าหยิกทีเดียว ในเรื่องนี้ เขารับบทเป็นน้องชายฝาแฝดที่เป็นกะเทย มีพี่ชายเป็นแฝดฝาเดียวกันแต่ไม่ได้เป็นกะเทย ซึ่งถือเป็นกรณีที่แปลก เพราะส่วนใหญ่แล้ว แฝดเหมือนจะเหมือนกัน หากคนหนึ่งเป็นเกย์หรือกะเทย อีกคนก็เช่นกัน

ผมคิดว่า หนังเรื่องนี้ได้ช่วยสร้างภาพ “บวก” ให้กับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ผิดกับหนังแนวเดียวๆ กันหลายๆ เรื่องก่อนหน้านี้โดยเฉพาะในช่วงปีที่ผ่านมานี้ ถึงแม้แนวทางนำเสนอมุขตลกในเรื่องจะไม่จี้เส้นผมให้ขำเหมือนคนอื่นๆ ในโรง ผมก็เดินออกจากโรงพร้อมรอยยิ้ม

เพื่อนผมสองคนโทรศัพท์มาเล่าความประทับใจเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้ให้ฟังพร้อมออกอาการเซอร์ไพรซ์ ทั้งสองบอกว่า มีอะไรที่เหนือความคาดหมายในหนังเรื่องนี้ ผมไม่ได้บอกเขาหรอกครับว่า ผมไปดูมาก่อนหน้าเขาแล้ว และเซอร์ไพรซ์ไปแล้วเรียบร้อย

-end-


All rights reserved.

Monday, July 23, 2007

แล้ววันหนึ่ง...เราจะผ่านจุดนี้ไป

เลิกแอบเสียที วิทยา แสงอรุณ 21-22 ก.ค. 2007
เซคชั่น MetroLife จาก นสพ. ผู้จัดการรายวัน วันเสาร์


ผมรู้จักกับ “รุจน์” เมื่อสองสามปีก่อน เรารู้จักกันผ่านเจ้าหน้าที่ประจำมหาวิทยาลัยท่านหนึ่งที่ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่นักศึกษา ผมยังจำได้ว่า ตอนพบกันครั้งแรก เขาส่งยิ้มกว้างมาให้ผมราวกับว่า เรารู้จักกันมาก่อนเมื่อนานแสนนานมาแล้ว


หนุ่มรูปร่างสูงโปร่ง หน้าใสคนนี้เป็นใครกัน? ตอนนั้น ผมแทบจะไม่รู้จักอะไรอื่นเกี่ยวกับเขาเลย เราคุยกันเพียงเล็กน้อย ผมรู้แต่เพียงว่า เขาเป็นนักศึกษาคนหนึ่งที่กำลังค้นหาตัวเอง และจากคำบอกเล่าของเจ้าหน้าที่คนนั้น : อยากให้น้องเค้าคุยกับคุณน่ะ เค้ามีปัญหาน่ะ เผื่อคุณช่วยได้...

ดูจากภายนอกแล้ว ตอนที่พบกันในครั้งแรก และอีกครั้งต่อมา ผมมองไม่เห็นสีหน้า แววตา หรือว่ามีสัญญาณใดที่บ่งบอกว่า เขามีปัญหาหรือมีเรื่องทุกข์ใจอะไรเลย เขาดูยิ้มแย้ม มีความสุขดี กระนั้น ผมยังคงรู้สึกถึงอะไรบางอย่าง ผมเลยบอกเขาไปว่า “มีอะไรก็คุยกันได้นะครับ” แต่เราก็ไม่ได้ติดต่ออะไรกันอีกเลยสองปีกว่าๆ

จนกระทั่งวันหนึ่ง ผมได้รับอีเมลของเขา บอกว่า มีเรื่องจะปรึกษา และขอเขียนเป็นอีเมล เพราะเขาจะมีสติในการเรียบเรียงเรื่องราวมากกว่าจะพูดให้ฟัง

“…ผมไม่รู้จะเริ่มตรงจุดไหนครับพี่ เพราะมันมีหลายเรื่อง แต่รวมแล้วก็คือเรื่องเดียวกัน ผมขอเขียนไปตามที่นึกได้นะครับ ผมเพิ่งเรียนจบครับ แต่ผมยังไม่ได้ไปทำงานที่ไหนเลย ผมโกหกตัวเองมาตลอดว่า ผมไม่ยี่หระกับเรื่องนี้ แต่จริงๆ แล้วผมก็เครียดมากครับ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่า ผมกลัวจะเข้ากับเพื่อนใหม่ในที่ทำงานไม่ได้ ทำให้ปิดโอกาสตัวเองมาตลอด ถูกเรียกสัมภาษณ์ก็ทำให้ตัวเองไม่ได้งานซะงั้น

ผมกลัวเข้ากับคนใหม่ๆ สภาพแวดล้อมใหม่ๆไม่ได้ ส่วนหนึ่งเพราะตอนนี้ผมมีปัญหาบุคลิกภาพมาก ผมกลัวว่า ผมจะแสดงบุคลิกความเป็นเกย์ออกมาครับ ผมก็อยากเลิกนะครับ ผมมีเพื่อนที่ดี และรู้เรื่องนี้ แต่เขาเป็นผู้หญิง และเรียนอยู่ไกลแสนไกล

แม่ไม่เข้าใจผมเลย ผมบอกท่านแล้ว แม่ก็ทำท่าเหมือนกับว่ายอมรับ แต่จริงๆ ในใจลึกๆ ก็ยังอยากให้ผมชอบผู้หญิง และแต่งงานกับผู้หญิง วันไหนเป็นวันร้ายท่านก็จะโผล่มาพูดเรื่องนี้ครับ บอกให้ผมลองดู ถ้าไม่ลองจะรู้ได้ไงว่าชอบหรือไม่ชอบ อะไรทำนองนี้ ที่สำคัญท่านอายที่ผมชอบผู้ชาย ผมเสียใจมาก

ในเมื่อผมเปลี่ยนตัวเองไม่ได้ ทำไมจะต้องมาบังคับให้ผมเป็นอย่างที่ท่านต้องการด้วย ปากก็บอกว่ารักผม แต่ว่าจริงๆ แล้วจะบังคับให้ผมเป็นในสิ่งที่ท่านอยากให้เป็น ท่านไม่เคยมองเห็นผมเลย ท่านเห็นแต่ลูกชายในอุดมคติที่ไม่มีวันมีจริง คงเป็นความซวยของผม ตอนเด็กๆ ผมสนิทกับท่านที่สุด ท่านตั้งความหวังกับผมมากที่สุด ท่านรักผมมากที่สุด ตอนนี้ก็ยังเป็นอย่างนั้น การที่ท่านมาตั้งความหวังกับผมแบบนี้ ทำให้ผมเครียดมาก เหมือนถูกขังไว้ในคุกที่มองไม่เห็น เหมือนถูกเรียกร้องให้มอบสิ่งที่ให้ไม่ได้ เหมือนเป็นความรับผิดชอบใหญ่หลวงที่ผมต้องแบกไว้บนบ่า

ผมกลัวตลอดเวลาว่าจะทำในสิ่งที่ท่านคาดหวังไม่ได้ กลัวว่าอนาคตจะเป็นอย่างไรหากผมจะใช้ชีวิตในแบบของผมเอง ผมกลัวไปหมดทุกอย่างเลยตอนนี้ เป็นอย่างนี้อยู่หลายทีจนในที่สุดผมก็เลิกสมัครงานครับ

ตอนนี้ที่ผมรู้สึกว่าเป็นปัญหาต่อตัวเองมากที่สุด คือการยอมรับตัวเองครับ ผมยอมรับตัวเองไม่ได้ ผมยังหวังอยู่ลึกๆว่าอยากจะเป็นผู้ชายที่ชอบผู้หญิง ตอนนี้ผมอ่อนไหวเหลือเกิน ความอ่อนไหวค่อยๆเพิ่มขึ้นๆ จนผมแทบจะใช้ชีวิตประจำวันไม่ได้ถ้าไม่สวมหน้ากากไว้ ผมจะแสดงท่าทีเป็นคนเย็นชา พูด
น้อยๆ ไม่แสดงท่าทางอะไรเลย ทำตัวแข็งๆ ตาขวางๆ หรือไม่ก็ยิ้มๆ ซึ่งทำได้แป๊บเดียว เพราะมันก็ไม่ใช่ตัวผม หลังจากพยายามแอ๊คท่าที่ไม่ใช่ตัวเองแล้ว ผมก็ยิ่งแข็งและตาขวางเข้าไปใหม่ ไม่พูดไม่คุย ก็เพื่อปกปิดความไม่มั่นคงภายในใจที่นับวันมีแต่จะทวีความรุนแรงขึ้นทุกที จนผมแทบจะยืนไม่อยู่อยู่แล้ว…”

คุณผู้อ่านครับ ผมอ่านจดหมายเขาจบแล้ว ผมรู้สึกเย็นสันหลังวาบขึ้นมาอย่างไม่รู้ตัว ผมรู้แล้วล่ะครับว่า ผมเคยรู้จักรุจน์ที่ไหนมาก่อน ผมโทรศัพท์นัดหมายเพราะผมอยากจะบอกอะไรเขาต่อหน้ามากกว่าจะตอบอีเมลกลับอย่างที่เขาต้องการ

เขายังคงเป็นเด็กหนุ่มหน้าใสคนเดิม เขายิ้มทักทายผมเหมือนครั้งแรกที่เราเจอกัน พอเราได้นั่งลงคุยกัน และรับฟังเรื่องราวอื่นๆ ที่เขาพรั่งพรูออกมาเหมือนน้ำบ่าที่ไหลหลาก ผมรู้สึกดีใจนะครับที่เขาไว้ใจผม และเล่าเรื่องส่วนตัวต่างๆ ให้ฟังมากมาย แล้วผมก็บอกเขาว่า

“รู้มั๊ย ยิ่งมาฟังเราเล่าความรู้สึกที่เกิดขึ้นแล้ว พี่อยากจะบอกว่า มันเหมือนพี่เห็นตัวเองอีกครั้งเลย พี่ก็เคยไปยืนอยู่ตรงนั้นมาก่อนนะ”

ผมมองหน้าเขาอย่างพิจารณา ดูเขาสบายใจขึ้นที่รู้ว่า ไม่ใช่เขาเพียงคนเดียวที่เคยรู้สึกอย่างนี้มาก่อน มันเกิดขึ้นกับคนหลายๆ คนมาแล้วที่ต้องผ่านขั้นตอนนี้ของชีวิต เพียงแต่ว่า เราจะยินยอมที่จะเผชิญความจริงของตัวเองหรือไม่ มันอาจเจ็บปวด มันอาจเสียน้ำตา แต่เวลานี้เขายินยอมเปิดใจในที่สุด ไม่เก็บมันไว้คนเดียวอีกแล้ว เขาเปิดโอกาสให้คนอื่นๆ รับรู้เรื่องราวเขา ก็เพื่อที่เขาจะได้ปลดปล่อยตัวเองจากพันธนาการที่รัดรั้งเขาไว้อย่างแน่นหนา

ผมอยากจะบอกคุณผู้อ่านท่านอื่นๆ อีกครั้ง โดยเฉพาะท่านที่ไม่เคยพูด “ความในใจ” ให้ใครได้ฟังเลย และกำลังคิดว่า จะปกปิดมันไปตลอดชีวิต โปรดจงอย่าอยู่คนเดียว โปรดจงอย่าปิดกั้นตัวเอง โปรดหาคนปรึกษา และจงมั่นใจว่า คุณไม่ใช่คนๆ เดียวที่รู้สึกอย่างนั้นในโลกใบนี้ แล้วเราจะผ่านจุดนี้ไปได้ เหมือนที่อีกหลายๆ คน เคยผ่านมาแล้ว

-end-

All rights reserved.

Monday, July 16, 2007

A sense of ‘Pride’


เลิกแอบเสียที วิทยา แสงอรุณ 14-15 ก.ค. 2007 เซคชั่น MetroLife จาก นสพ. ผู้จัดการรายวัน วันเสาร์

วันพฤหัสที่ 5 ก.ค. คงเป็นวันที่ “น้องมด” มีความสุขที่สุด หลังจากเหตุการณ์ปกป้องสิทธิ์ของเธอที่ถูกเลือกปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่โรงแรมโนโวเทล สาขาสยามสแควร์เป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลก เรื่องนี้ต้องขอบคุณสื่อมวลชนในประเทศอย่างนสพ. “ข่าวสด” สื่อภาษาอังกฤษในประเทศ รวมทั้งสำนักข่าวต่างประเทศหลายๆ แห่งที่รายงานข่าวอย่างต่อเนื่อง

ผมคิดว่า ความจริงเรื่องทำนองนี้ควรจะจบได้สวยกว่านี้ และใช้เวลาน้อยกว่านี้ ถ้าหากเครือบริหาร “Accor Group” ไม่ประเมินสถานการณ์ผิดพลาดขนาดนี้

หลังจากตกเป็นข่าวกีดกันสาวประเภทสองไม่ให้เข้าคลับชั้นใต้ดินของโรงแรม และด้วยสถานการณ์บังคับ ฝ่ายบริหารของโรงแรมในกรุงเทพฯ ก็ยอมออกแถลงการณ์ฉบับแรกอธิบายเรื่องราวที่เกิดขึ้นผ่านสื่อมวลชนอย่างไม่ค่อยเต็มใจนัก ตามที่เป็นข่าวไปก่อนหน้านี้

เห็นได้ชัดว่า ในแถลงการณ์ฉบับนั้น “เอาสีข้างเข้าถู” ด้วยการอ้างว่า เรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมดเป็นความเข้าใจผิด พร้อมยืนยันว่า คลับของโรงแรมไม่มีนโยบายกีดกันสาวประเภทสองทั้งๆที่ มีเหตุเกิดทำนองเดียวกันเกิดขึ้นมาก่อนหน้าหลายครั้ง เพียงแต่ไม่เป็นข่าว

อีกประการ เจ้าหน้าที่ระดับซีเนียร์ของโรงแรมก็ยอมรับว่า มีนโยบายเช่นนั้นจริง ซึ่งเป็นที่รับรู้กันภายใน และไม่ได้เขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร

แถมยังไม่พอ เนื้อหาในแถลงการณ์ฉบับแรกบิดเบือนข้อเท็จจริงโดยชี้ประเด็นว่า น้องมด อาจจะสร้างความไม่สงบและทำให้แขกท่านอื่นๆ เกิดความไม่ปลอดภัย

เรียกได้ว่า โรงแรมได้ “เติมเชื้อไฟ” ให้สถานการณ์อย่างรุนแรง ส่งผลให้น้องมดตัดสินใจเด็ดขาดว่า หากทางโรงแรมไม่ออกมาขอโทษอย่างเป็นทางการ ก็จะดำเนินการทางกฎหมายด้วยการฟ้องโรงแรมที่ทำให้เธอได้รับความเสียหาย ทั้งยังออกแถลงการณ์ที่ทำให้สาธารณชนเข้าใจผิดว่า เธอเป็นคนโกหก พร้อมขีดเส้นตายไว้ว่า จะรอฟังคำตอบภายในวันที่ 4 ก.ค.

ที่ผ่านมาทางโรงแรมไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ เลยหลังจากออกแถลงการณ์ฉบับนั้น น้องมดไม่เคยได้รับการติดต่อจากโรงแรมแต่อย่างใด ทางโรงแรมคงคิดว่า เรื่องคงซา และเงียบไปเองในที่สุด แต่ตรงกันข้าม เรื่องราวได้ขยายวงกว้างออกไปแล้วโดยไม่รู้ตัวในต่างประเทศ

ในฝรั่งเศส และอังกฤษ กลุ่มเกย์และเลสเบี้ยนได้เริ่มเคลื่อนไหวตามคำเรียกร้องให้ร่วมกันบอยคอตโรงแรมในเครือของ Accor Group ทั้งหมด

เว็บไซต์ข่าวในอังกฤษแห่งหนึ่ง ถึงกับถอดชื่อโรงแรมในเครือ Accor จากลิสต์โรงแรม “gay-friendly” เท่านั้นยังไม่พอ ยังร่วมใจกันยกเลิกการจองห้องพักที่จองไปแล้วอีกด้วย หลังจากได้มีการสอบถามสำนักงานใหญ่ของ Accor ไป ถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น แต่ไม่ได้รับคำตอบใดๆ

ไม่มีใครนอกจาก Accor ที่รู้ว่า ความเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้นเป็นเม็ดเงินเท่าไหร่ ยังไม่รวมชื่อเสียงที่เสียหายไปแล้วทั่วโลก

โดนไม้ตายอย่างนี้ บริษัทแม่ “Accor Group” ซึ่งเป็นเครือข่ายบริหารโรงแรมจากประเทศฝรั่งเศส จึงเริ่มมองเห็นว่า สถานการณ์บานปลายไปแล้ว

สิ่งเหล่านี้เองสะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติอันคับแคบของผู้บริหารที่สาขากรุงเทพท่านนั้น และการจัดการภายในของเครือโรงแรมเองที่ล่าช้า เท่าที่ผ่านมา โรงแรมในเครือของ Accor Group ทั่วโลกมีนโยบาย “gay-friendly” อยู่แล้ว แต่เหตุไฉนจึงเกิดเรื่องเช่นนี้ขึ้นที่กรุงเทพฯ ได้ และเมื่อเกิดเรื่องแล้ว การดำเนินการจัดการแก้ไขปัญหาก็ไม่ทันท่วงที เป็นประเด็นที่น่าสนใจมาก

ชาวต่างชาติที่มาประเทศไทยบ่อยๆ คงจะงง เพราะประเทศไทยในสายตานักท่องเที่ยวต่างชาติที่เป็นเกย์ หรือเลสเบี้ยนนั้นต่างยกนิ้วให้ว่าไทยแลนด์เป็นแดนสวรรค์ที่เปิดกว้างสำหรับเกย์และเลสเบี้ยน

น้องมดเล่าให้ฟังว่า ในวันแถลงข่าว เธอไม่ได้พบเจ้าหน้าที่ระดับสูง (ต่างชาติ) ซึ่งเป็นผู้เซ็นคำแถลงการณ์ท่านนั้น แต่เจอเจ้าหน้าที่คนใหม่ที่เพิ่งรับตำแหน่งใหม่ และเธอได้ข่าวมาว่า มีการโยกย้ายพนักงานที่คลับ รวมทั้งพนักงานที่แผนกรีเซพชั่น รวมแล้ว 4-5 คน

งานแถลงข่าวร่วมกันนั้นดำเนินการโดยตรงโดยสำนักงานใหญ่ของ Accor ทั้งหมด

สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ น้องมดฉลาดพอที่จะขอดูคำแถลงการณ์ของ Accor ก่อนแถลงข่าว ซึ่งเธอพบว่า แถลงการณ์ของ Accor ยังคงมีข้อมูลไม่ครบ และยังคงไว้ซึ่งคำโฆษณาสวยหรู ยืนยันชื่อเสียงของโรงแรมและอื่นๆ อีกจิปาถะ ซึ่งไม่ได้ตรงกับความต้องการของเธอ เธอจึงลงมือแก้ไขข้อความทั้งหลายด้วยตัวเอง และส่งกลับไปเพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน

เรื่องเกย์และเลสเบี้ยนบอยคอตในต่างประเทศเป็นเรื่องใหญ่หลายครั้ง ผมรู้สึกทึ่งกับเหตุการณ์หนึ่งซึ่งหลายคนเรียกว่า เป็นโครงการบอยคอตออนไลน์ครั้งประวัติศาสตร์

ในปี 2000 บรรดาเกย์และเลสเบี้ยนไม่พอใจนักจัดรายการวิทยุท่านหนึ่งชื่อ ดร. ลอร่า เชเรสซิงเกอร์ ซึ่งนิยมแอนตี้เกย์ด้วยคำพูดร้ายๆ มาตลอดผ่านสื่อในมือ เธอกำลังจะมีรายการทีวีเป็นของเธอเอง บรรดาผู้ไม่พอใจจึงสร้างเว็บไซต์รณรงค์แสดงความไม่พอใจ ดร. ปากร้ายท่านนี้ (ตอนนี้เว็บนี้ก็ยังอยู่เพื่อการศึกษา ดูที่ www.stopdrlaura.com) เว็บนี้ได้รับเงินบริจาคจากผู้เข้าชมเว็บมากมาย และมีผู้ลงชื่อสนับสนุนอีกเพียบ พวกเขาช่วยกันติดต่อบรรดาเจ้าของผลิตภัณฑ์ที่สนับสนุนรายการวิทยุและรายการทีวีของเธอ เพื่อให้ยกเลิกการสนับสนุนทั้งหมด

โครงการรณรงค์ขยายผลไปถึงเมืองใหญ่ๆ ในอเมริกา และแคนาดา ต่อมาบรรดาเจ้าของผลิตภัณฑ์รายใหญ่น้อยก็ตัดสินใจทยอยถอนโฆษณาจากรายการของเธอ ภายในเวลา หนึ่งปีรายการทีวีของเธอพังไปไม่เป็นท่าในที่สุด

ทั้งหมดนี้ จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากเหล่าเกย์และเลสเบี้ยน ไม่รู้จักรัก ไม่รู้สึกภาคภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองเป็น ไม่รู้จักความหมายของคำว่า “Pride” หากเป็นเช่นนี้อยู่ เราก็คงต้องอยู่อย่างประชากรชั้นสอง หรือชั้นสามต่อไป ยอมศิโรราบให้กับสถานการณ์เลือกปฏิบัติ ตกเป็นเบี้ยล่างให้กับสถานการณ์

น้องมดได้กลายเป็นตำนานหน้าหนึ่งที่ทำให้พวกเราหลายๆ คนเห็นว่า เราช่วยกันและทำให้สังคมลดอคติทางเพศลงได้ และต่อไป ใครหน้าไหนที่ไม่คิดหน้าคิดหลังก่อนจะเลือกปฏิบัติ คงต้องระวังให้ดีว่า จะถูกปฏิบัติอย่างไรจากบรรดาผู้ที่เคยตกเป็นเหยื่อ

บอกต่อกันไป : ผู้เขียนขอขอบพระคุณท่านผู้อ่าน และท่านผู้ฟังรายการฮ็อตไลน์สายสีรุ้งทางคลื่น FM 95.75 และเพื่อนที่มาร่วมงานเปิดตัวภาพยนตร์เรื่อง Club M2 ที่โรงหนังเฮาส์ รามา และช่วยกันประชาสัมพันธ์หนังเรื่องนี้ผ่านสื่อต่างๆ ไว้ ณ. ที่นี้ครับ หนังยังคงฉายอยู่ ตรวจสอบรอบฉายได้ที่ www.houserama.com หรือโทร. 02-641-5177-8 ชมตัวอย่างภาพยนตร์ http://clubm2.bkktv.com

-end-

All rights reserved.

Sunday, July 8, 2007

กะเทยประจัญบาน


เลิกแอบเสียที วิทยา แสงอรุณ 7-8 ก.ค. 2007 เซคชั่น MetroLife จาก นสพ. ผู้จัดการรายวัน วันเสาร์

คอลัมน์นี้ปิดล่วงหน้าเกือบหนึ่งอาทิตย์ครับ ข่าวฮ็อตเรื่อง “น้องมด Vs. โรงแรมโนโวเทล” เลยไม่สดตรงนี้ แต่ผมพบว่า หลังจากได้คุยกับน้องมดถึงพริกถึงขิงแล้ว เรื่องนี้ “มันส์หยด” จริงๆ ทั้งเบื้องหน้าเบื้องหลังข่าว

เมื่อวันศุกร์ที่ 22 มิ.ย ศุทธิรัตน์ สิมศิริวงศ์ หรือ “มด” กับเพื่อนผู้ชายชาวต่างชาติไปเที่ยวที่ “Concept CM2” ซึ่งเป็นเอ็นเตอร์เทนเม้นท์คอมเพล็กซ์ชื่อดังอยู่ชั้นใต้ดินโรงแรมโนโวเทล สยามฯ เจ้าหน้าที่ต้อนรับขอตรวจบัตร น้องมดก็โชว์ใบขับขี่ พอเจ้าหน้าที่พบว่าเป็น “นาย” ก็แจ้งทันทีว่า เป็นนโยบายของผู้บริหารไม่อนุญาตสาวประเภทสองเข้า ทั้งๆ ที่สามอาทิตย์ก่อนหน้านี้ เธอเคยไปที่นั่น แล้วไม่มีปัญหา

เพื่อนชายที่ไปด้วยกันซึ่งเป็นแขกระดับวีไอพีที่นั่น ขอพบผู้ช่วยผู้จัดการคลับฯ ซึ่งรู้จักกัน แต่ได้รับคำตอบว่า ช่วยไม่ได้จริงๆ เพราะเป็น “นโยบาย” เพื่อนงง มดงง ปนสับสน โกรธ และโทษตัวเองว่าไม่น่ามาที่นี่เลย ตอนถูกปฏิเสธนั้น ทางด้านหลังเธอ มีแขกผู้หญิงสองสามคนกำลังรอจะผ่านประตูเข้าไป ยิ่งทำให้เธอรู้สึกอายมากยิ่งขึ้น

กลับถึงบ้าน มดบอกตัวเองว่า ยอมไม่ได้ เกิดมาไม่เคยโดยดูถูกขนาดนี้ และไม่เข้าใจว่า เกิดอะไรขึ้นกันแน่ ความคิดแวบแรกของเธอคือ จะจ้างทนาย แต่คงต้องหาทนายที่เข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชน เธอเคยได้ยินชื่อองค์กรบางกอกเรนโบว์ ค้นหาในเน็ตก็พบเบอร์ติดต่อ กะว่าจะขอคำแนะนำเรื่องหาทนาย

คืนนั้น นิกร อาทิตย์ ประธานองค์กรฯ เตรียมจะเข้านอนอยู่แล้ว หลังจากรับทราบเรื่องจากเจ้าหน้าที่ท่านหนึ่ง เขาก็หูตาสว่าง ลืมง่วง ลุกขึ้นโทรกลับน้องมด คุยจบก็ขอคำยืนยันว่า สามารถ “ออกสื่อ” ได้แค่ไหน เพราะเรื่องนี้ ถ้าเจ้าทุกข์ไม่ปรากฏตัวให้สัมภาษณ์ ไม่มีทางจัดการอะไรได้แน่ๆ

พอน้องมด (ซึ่งเรียนจบด้านสื่อสารมวลชน) บอกว่า พร้อมทุกอย่าง นิกรจึงลงมือพิมพ์ข่าว เปิดประเด็นให้สื่อมวลชน กว่าจะส่งแฟกซ์ไปตามสื่อต่างๆ ครบก็ตีหนึ่ง สื่อที่ให้ความสนใจกับกรณีนี้มากที่สุดก็คือ นสพ. ข่าวสด

คำถามแรกของนักข่าวคือ เชื่อได้แค่ไหน? นิกรคิดขึ้นได้ จึงโทรฯ ไปสอบถามทางโรงแรม ไม่พบผู้จัดการสถานบันเทิงแห่งนั้น แต่ได้คุยกับเจ้าหน้าที่ระดับซีเนียร์คนหนึ่ง ซึ่งยืนยันว่า เป็นนโยบายของโรงแรม พอนักข่าวได้รับคำยืนยันจากนิกร การสัมภาษณ์และถ่ายรูปก็เกิดขึ้นในวันอังคาร

น้องมดบอกด้วยว่า ได้รับแจ้งจากผู้สื่อข่าวว่า พาดหัวคงต้องแรงและต้องเข้าใจ เพราะถ้า “ไม่แรง จะไม่มีคนสนใจ” และแล้วข่าวจั่วหัว “ตุ๊ดโวย-โนโวเทล กีดกันเพศห้ามกะเทยเข้าผับ” ก็เผยออกมาในฉบับวันพุธ (27 มิ.ย.) ทีวีหลายช่องนำไปเสนออย่างครึกโครมทั้งข่าวเช้า ตลอดวัน และอีกสองสามวัน มีทีวีหลายรายการติดต่อเข้ามา

แล้วทางโนโวเทลว่ายังไง?

แถลงการณ์ของผู้จัดการใหญ่ของโนโวเทลปฏิเสธว่า ไม่ได้รังเกียจหรือกีดกันสาวประเภทสอง เคยจัดงาน และกิจกรรมเกี่ยวกับเกย์และกะเทยมาก่อน (ไม่ระบุว่า จัดครั้งสุดท้ายไปเมื่อไหร่) พร้อมยังแสดงความเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยของผู้ใช้บริการจึงมีการตรวจบัตร เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นการสื่อสารและเข้าใจผิดของพนักงานต้อนรับ พร้อมแจ้งว่า บัตรและรูปหน้าของน้องมดไม่ตรงกัน ที่สำคัญที่สุดคือ ไม่เคยมีนโยบายห้ามสาวประเภทสองเข้าใช้บริการ ทางโรงแรมกล่าวว่า เสียใจที่มีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น แต่ไม่ได้กล่าวคำขอโทษแต่อย่างใด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น โรงแรมลืมข้อมูลสำคัญไปว่า วันนั้น น้องมดไปกับแขกระดับวีไอพีของคลับ ซึ่งข้ออ้างเรื่องความปลอดภัยจึงฟังเลื่อนลอยไปโดยปริยาย

กรณีโดนกีดกันทางเพศเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นประจำแต่ไม่เป็นข่าว เพราะเจ้าทุกข์อายเกินกว่าที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อตัวเอง การเปิดเผยตัวของน้องมด และไม่ยอมจำนนต่อสถานการณ์การถูกเลือกปฏิบัติทำให้คนอื่นๆ กล้าที่จะพูดมากขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ และส่งผลตามมาอีกหลายอย่าง

สาวประเภทสองคนหนึ่งเพิ่งแจ้งทางบางกอกเรนโบว์ว่า ได้ไปที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตชื่อดังแห่งหนึ่ง หลังจากหิ้วของพะรุงพะรังจนไม่ไหว จึงนำไปฝาก แต่เจ้าหน้าที่รับฝากของไม่พอใจพร้อมบ่นว่า เป็นกะเทยแล้วยังเรื่องมากอีก

สาวประเภทสองคนนั้นจึงเขียนจดหมายร้องทุกข์ไปยังผู้บริหาร เวลาผ่านไปเป็นเดือน ไม่เคยได้รับการติดต่อ พอเธอเห็นข่าวน้องมด เลยลองโทรฯ ดู ปรากฏว่า ผู้รับผิดชอบรีบขอโทษขอโพย และแจ้งว่า หากมาที่ห้างอีกจะมาแสดงความเสียใจที่เกิดเรื่องขึ้นด้วยตัวเอง และสำทับด้วยว่า

ขอเพียงแต่ “ไม่อยากเป็นข่าวเหมือนโนโวเทลนะ”

และแล้วคำร้องทุกข์เรื่องการถูกเลือกปฏิบัติก็ตามมาเป็นพรวน มีหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่โรงแรมแห่งนั้น ไม่ใช่เพียงแต่สาวประเภทสอง แต่เกิดกับผู้หญิงทั่วไปอีกด้วย โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีสามีเป็นชาวต่างชาติ หรือมากับเพื่อนต่างชาติ

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้หญิงขายบริการคงจะมีอยู่หลายๆ ที่ แต่การที่เจ้าหน้าที่โรงแรมเหมารวม หรือตีขลุมว่า แขกที่มาโรงแรมที่เป็นหญิงไทย หรือเป็นสาวประเภทสองจะมาทำมาหากิน จับแขก หรือมาก่อความไม่สงบในโรงแรมนั้น คงต้องหาวิธีการอื่น

กรณีของน้องมด ผมคิดว่า หากเธอทราบมาก่อนหรือมีป้ายติดประกาศให้เป็นที่รู้กันว่า ที่นี่มีกฎอย่างไร คงไม่เกิดเรื่องขึ้น ทางโนโวเทลอาจคิดว่า กะเทยเป็นแค่ประชาชนชั้นสอง คงไม่มีปากมีเสียง ซึ่งเป็นความคิดเช่นเดียวกันกับอีกหลายๆ คนในสังคมที่ยังรู้สึกเหยียดเพศอยู่ลึกๆ เรื่องทำนองนี้เป็นบทเรียนสำคัญทีเดียวล่ะครับ

สำหรับผู้ที่ถูกเลือกปฏิบัติเอง หากยังคงไม่ลุกขึ้นมาปกป้องศักดิ์ศรี และทำในสิ่งที่ถูกต้อง ความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีเพื่อให้สังคมลดอคติลง คงไม่มีวันเกิดขึ้น

ผมไม่แน่ใจว่า เหตุการณ์น้องมด VS โนโวเทล ส่งผลกระทบต่อเหตุการณ์นี้หรือเปล่า แต่สิ่งดีๆ ก็เกิดขึ้นแล้ว นั่นคือ ในวันศุกร์ที่ 29 มิ.ย นั่นเอง สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญโหวตเปลี่ยนข้อความในมาตรา 30 วรรค 3 โดยเพิ่มคำว่า “อัตลักษณ์ทางเพศ” ขึ้นมาเพิ่มเติมจากคำว่า ชายและหญิง หลังจากมีการเรียกร้องให้บรรจุคำว่า “บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ” เพื่อคุ้มครองและสร้างความเสมอภาคมาก่อนหน้านี้

คำว่า “อัตลักษณ์ทางเพศ” อาจฟังดูแล้วยากจะเข้าใจ แต่ก็ถือว่า สังคมไทย ได้ยอมรับความแตกต่างทางเพศของประชาชน ยอมรับ “การมีตัวตน” ของเกย์ กะเทย ทอม ดี้ และเพศอื่นๆ อย่างเป็นทางการ ถึงแม้จะผ่านเป็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ผมคิดว่า เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ถึงเวลาแล้ว ที่คนเป็นเกย์ กะเทย และอื่นๆ ไม่สงบเสงี่ยมเจียมตน ยอมจำนนต่ออคติ และปล่อยให้อคติทำลายโอกาสดีๆ ในชีวิต

สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด หากเปรียบไป ก็คล้ายชีวิตคนๆ หนึ่งแหละครับ หากไม่มีเหตุการณ์อะไรที่จุดประกาย หรือไม่มีเหตุการณ์ใดที่สร้างความสั่นสะเทือน ความเปลี่ยนแปลงคงไม่เกิดขึ้น เราคงจะอยู่อย่างนี้ตลอดไป ศิโรราบต่อสิ่งที่ใครๆ บอกว่าผิด

แล้วคุณผู้อ่านที่ยังแอบอยู่ละครับ คิดยังไง จะมีเหตุการณ์อะไรในชีวิตบ้างไหมที่จะทำให้คุณเปลี่ยนแปลงตัวเอง กล้าที่จะยอมรับตัวเองกับคนอื่นๆ กล้าที่จะเผชิญความจริงของชีวิต และคิดว่าจะเลิกแอบได้?

บอกต่อกันไป : หากประสบเหตุถูกเลือกปฏิบัติ ติดต่อ สำนักงานสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ http://www.nhrc.or.th โทร. 0-2219-2980 โทรสาร 0-2219-2940 สายด่วนร้องเรียน 1377/ เป็นกำลังใจให้น้องมด noomoddang@yahoo.com หรือติดต่อองค์กรบางกอกเรนโบว์ bangkokrainbow@yahoo.com

-end-

All rights reserved.

Monday, July 2, 2007

ความอบอุ่นแบบแปลกๆ


เลิกแอบเสียที วิทยา แสงอรุณ 30 มิ.ย.–1 ก.ค. 2007 เซคชั่น MetroLife จากนสพ. ผู้จัดการรายวัน วันเสาร์

มีคนเคยบอกผมว่า เพื่อนที่เราเจอที่มหาวิทยาลัยจะคบกับเราไปยาวนานมาก ยิ่งถ้าเราได้เรียน กินนอน ไปเที่ยว ทำกิจกรรมกันบ่อยๆ เราก็จะคบกันยาวนานยิ่งขึ้นหลังเรียนจบ

เท่าที่นึกดู เพื่อนส่วนใหญ่จากมหาวิทยาลัยเดียวกันที่ผมคบอยู่และสนิทกันอยู่จนถึงบัดนี้ก็มักจะเป็นเพื่อนผู้หญิง หรือไม่ก็เป็นเกย์

เพื่อนเกย์ที่ว่า ผมก็เพิ่งรู้ว่าเขาก็ใช่ก็ตอนเรียนจบไปนั่นแหละ สมัยเรียน เรื่อง “ผีเห็นผี” หรือ “สบตากันก็รู้ความนัย” ก็พอจะมีนะครับ แต่เรื่องจะให้กระชากผีออกมาน่ะ ผมคงไม่กล้า เพราะผมก็กลัวว่า เค้าจะลากผมออกมาเหมือนกัน

บางทีก็นึกสงสัยตัวเองว่า ทำไมพอเรียนจบ เราไม่ค่อยมีเพื่อนที่เป็นผู้ชายเลยนะ หมายถึง ชายรักหญิงน่ะ? หรือตัวผมเองเลือกที่จะไม่คบพวกเขาไปเองโดยไม่รู้ตัว?

ผมพยายามนึกหาคำตอบอยู่นาน บางคำตอบคงคล้ายๆ กับท่านผู้อ่านอยู่บ้างนะครับ อย่างเช่น คงเป็นเพราะกลัวจะคุยกันไม่รู้เรื่อง? กลัวจะโดนดูถูกเหยียดหยาม? กลัวจะโดนเขาแกล้ง? กลัวใจตัวเองไปแอบหลงรักเค้า? กลัวชาวบ้านเข้าใจผิด? กลัวว่าเขาจะปฏิเสธตัวตนของเรา? กลัวว่าเขาจะคิดว่าเราเข้าหา? สารพัดจะกลัว

หรือกลัวว่าเรา “ไม่ดี” หรือ “ไม่มีคุณค่า” พอที่เขาจะคบด้วย ?

ผมเคยนึกถึงสิ่งเหล่านี้และพยายามค้นหาคำตอบอยู่พักหนึ่ง แต่ไม่เคยสำรวจความรู้สึกของตัวเองจริงๆ จังๆ เสียทีจนกระทั่งเร็วๆ นี้ ได้มีโอกาสเหมาะเพราะกิจกรรมล้อเล่นกันบนเว็บแท้ๆ

เพื่อนๆ รุ่นเดียวกับผมทำเว็บไซต์นั้นขึ้นมาสำหรับติดต่อสื่อสารเฉพาะเพื่อนร่วมรุ่น เว็บไซต์ดังกล่าว เป็นเหมือนสะพานเชื่อมเพื่อนเก่า รื้อฟื้นความทรงจำสมัยเรียน รวมทั้งเรื่องสนุกๆ ที่เคยทำ ผมบอกได้เลยล่ะครับว่า รู้สึกเป็นเด็กอีกครั้งอย่างช่วยไม่ได้

และที่สำคัญ ทำให้ผมมีโอกาสได้คุยกับเพื่อนบางคนที่เคยหน้าแต่ไม่เคยทักกันเลยตอนเรียน หรือไม่ก็ ไม่เคยรู้มาก่อนว่า เขาและเธอมีตัวตนอยู่ในรุ่นเดียวกัน

ในเว็บนั้น มีห้องแชท และมีกระดานสนทนาเหมือนเว็บทั่วไป ไป ตอนแรก ผมไม่แน่ใจเหมือนกันว่า ผมควรเปิดเผยแค่ไหน เขาจะรับสิ่งที่ผมเขียนหรือรู้สึกได้ไหม เพราะในนั้น มีอีกหลายคนที่ผมไม่รู้จัก และคงมีคนแอนตี้เรื่องเกย์อยู่แน่นอนเหมือนคนในหมู่เหล่าอื่นๆ อีกอย่าง ผมก็ไม่คิดว่า จะได้เจอหน้าพวกเขา งั้นผมจะเปิดเผยอะไรมากมายไปทำไมล่ะ?

แต่...ถ้าผมปิดบังตัวเอง ไม่กล้าจะพูดหรือเขียนสิ่งที่ตัวเองเชื่อและรู้สึกกับเพื่อนเก่าสมัยเรียน งั้น...ผมก็ยังไม่เลิกแอบน่ะสิ? ผมเลิกคิดวุ่นวาย หรือต้องไตร่ตรองมากมายเกินเหตุ ผมเข้าไปคุยกับเพื่อนๆ ในนั้น ทั้งที่รู้จักหน้า และไม่เคยเห็นหน้ากันมาก่อนโดยไม่ปิดบังว่า ผมเป็นเกย์คนหนึ่ง

เพื่อนบางคน (ผู้หญิง) บอกว่า เขาเคยอ่านคอลัมน์นี้มาก่อน แต่ไม่รู้ว่าเป็นผม (วิทยา แสงอรุณเป็นนามปากกาน่ะครับ) เพื่อนบางคนบอกว่า ฉันก็สงสัยแกอยู่เหมือนกัน บางคนก็บอกว่า ตกใจ ทำไมถึงพูดจาเปิดเผยขนาดนั้น เพื่อนบางคนแอบกระซิบถามเพื่อนอีกคนว่า หมอนี่เป็นกะเทยหรือเปล่า เพื่อนบางคนก็ทักทายผมเฉยๆ แต่มีเพื่อนบางคนนี่สิครับโดนล้อเล่นว่า เป็น “กิ๊ก” กับผม

ผมก็นึกว่า พอโดนล้อเล่นสักพักจะเลิกกันไปเอง แต่ดูเหมือนยังเล่นกันไม่เลิก คนที่โดนล้อว่า เป็นกิ๊กกับผมมีอยู่สองคน คนหนึ่งแต่งงานมีลูกแล้ว และอีกคนยังไม่แต่ง เขาเพิ่งเลิกกับแฟน และเพื่อนที่จุดประเด็นล้อเล่นว่า สองคนนี้เป็นกิ๊กกับผม ก็เป็นผู้ชาย

ประเด็นที่ว่า เขาทั้งสองเป็นเกย์แอบหรือเป็นไบฯ คงตัดไปได้เลย เพราะผม “ไม่เห็น ผี” ในตัวเขาทั้งสอง (ใครมีคำอื่นแทนว่า เห็นผี ช่วยแนะนำด้วย)

ผมต้องยอมรับว่า ตอนแรก ก็งงๆ ที่เพื่อนมาล้อเล่นกันอย่างนั้น พวกเขาเขียนล้อเล่นกันถึงขั้นที่เรียกว่า เราเป็นกิ๊กกันแบบ “เราสามคน” และรักกันมากมายซะเหลือเกิน ไม่มีการทะเลาะเบาะแว้งกัน ผมอ่านแรกๆ ก็ขำไป เพลินไป

ขณะที่เพื่อนๆ รวมทั้งตัวกิ๊กทั้งสองร่วมล้อเล่นกันอย่างสนุกสนาน ต่อๆ มา ผมเองนั่นแหละที่เกิดกังวลขึ้นมาซะดื้อๆ

นี่ถ้าคนอื่นๆ เข้ามาอ่านในบอร์ดโดยไม่รู้ต้นสายปลายเหตุ บางคนคงคิดว่าเป็นเรื่องจริง และกิ๊กปลอมสองคนของผมจะได้รับผลกระทบ หรือโดนเข้าใจผิดจากคนอื่นๆ หรือเปล่า? ผมถามตัวเองตลอด

คุณว่าผมคิดมากไปมั๊ย? มันก็เรื่องล้อเล่นทั้งนั้น ใครจะถือเป็นจริงเป็นจัง?

แต่ถามเข้าจริงๆ ผมก็ยังห่วงกังวลอย่างนั้นอยู่นะ บางครั้งผมเองนั่นแหละที่รู้สึกเกร็ง และเขินซะเองเวลาเค้าแสดงความเป็นห่วงเป็นใยผมแบบล้อเล่นกัน จนกระทั่ง เวลาโพสต์ในบอร์ดในฐานะ “หนึ่งในครอบครัวเราสามคน” ผมต้องเขียนทิ้งท้ายไว้นิดหนึ่งให้คนอื่นๆ ที่เกิดผ่านมาอ่านว่า เรื่องที่เขียนน่ะล้อเล่นกันทั้งนั้น

ใจหนึ่ง ผมอดคิดชื่นชมเขาสองคนไม่ได้ที่เขาใจดี และใจกว้างที่ล้อเล่นกับผมได้ซะทุกเรื่อง และอีกใจหนึ่งก็อดปลื้มตัวเองไม่ได้ (ปลื้มแบบหลังคงเยอะ ขอยอมรับ) ว่า เราต้องมีอะไรดีเขาถึงมายอมล้อเล่นกับเราขนาดนี้? มันเป็นความอบอุ่นใจแบบแปลกๆ น่ะครับ

การที่มีเพื่อนผู้ชายถึงสองคนมาล้อเล่นแบบนี้กับผม ทำให้ผมกลับไปคิดเรื่องนั้นอีกว่า ทำไมผมถึงไม่ค่อยมีเพื่อนสนิทๆ เป็นผู้ชาย ผมปิดกั้นตัวเองที่จะเข้าไปเสวนากับพวกเค้า? ผมคิดไปเองว่า ผมคงคุยกับพวกเขาไม่รู้เรื่อง ผมกลัวไปต่างๆ นานาแบบที่เคยคิดหรือเปล่า?

ไม่หรอก ลึกๆ ผมคงคิดอยู่ว่า ผมไม่ดีพอที่จะคบกับพวกเขา ผมกำลังเปรียบเทียบอยู่ว่า ผมเป็นผู้ชายเกย์ ขณะที่เขาเป็นผู้ชายทั่วไป พวกเขาอยู่เหนือกว่าผม ผมเหมือน "ผู้ชายชั้นสอง" แล้วผมก็ถามตัวเองต่อไปว่า ใคร หรืออะไรกันนะที่ทำให้เราเกิดความรู้สึกอย่างนั้น

การที่คนเราคิดว่า ตัวเองไม่ดีพอที่จะคบกับใครบางคน ไม่ฉลาดพอที่จะคุยกับใครบางคน ไม่สวย ไม่หล่อ ไม่เด่นพอ หรือกลัวไปต่างๆ นานากับสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น ก็ไม่ต่างอะไรจากการปิดกั้นโอกาสของตัวเองที่จะทำให้เราได้ค้นพบคนอื่น และเราอาจจะไม่มีวันค้นพบเลยว่า ตัวเราเองเป็นใคร เรารู้สึกยังไงกันแน่

ผมพบกว่า เมื่อเราเรียนรู้ที่จะรู้จักตัวเองให้มากยิ่งขึ้น ผมว่านั่นแหละมันคือ สิ่งสวยงามและมีคุณค่าสำหรับชีวิตเรา เมื่อเรามั่นใจยิ่งขึ้นว่า เรามีคุณค่าพอที่ใครๆ จะมาคบหาเป็นเพื่อนด้วย นั่นแหละเราจะไม่รับรู้ถึงความแตกต่างระหว่าง “เรากับเขา” อีกต่อไป

-end-

All rights reserved.

Monday, June 25, 2007

Club M2: ผู้ชาย ผ้าขนหนู กับกล่องช็อกโกแลต

เลิกแอบเสียที
วิทยา แสงอรุณ 16-17 มิถุนายน 2007 เซคชั่น MetroLife จาก นสพ. ผู้จัดการรายวัน วันเสาร์

คุณผู้อ่านครับ หากยังจำกันได้ เมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา ผมขออนุญาตใช้พื้นที่ตรงนี้ประกาศหานักแสดงจำนวนมากสำหรับหนังเรื่องใหม่ที่กำลังเตรียมถ่ายทำ พอถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ผมก็มาเว้าวอนหานักแสดงอีกคน...คนสุดท้าย เพื่อมารับบท “คุณไพบูลย์”

วันนี้จะมาบอกว่า หนังเสร็จแล้วครับ อีกสองสัปดาห์จะเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ด้วยความช่วยเหลือของคุณผู้อ่านและบรรดาเพื่อนฝูงร่วมอุดมการณ์ เราใช้เวลาทั้งหมดหกเดือนปลุกปั้นมันขึ้น ใช้เวลาถ่ายทำประมาณสองเดือน

แต่ชื่อหนังนี่สิ เปลี่ยนกันหลายหนทีเดียว

แรกเริ่มตั้งใจไว้ว่าจะใช้ชื่อง่ายๆ ว่า “Sauna” “The Sauna” หรือไม่ก็ “S.A.U” ต่อมามีผู้ทักท้วงว่า ชื่อเซาน่าจะฟังดูโจ่งครึ่มไปหรือเปล่า?

ท่านผู้ใหญ่ที่ทักท้วงสองสามท่านก็หวังดีกับผมนะครับ ท่านเกรงว่า อาจจะเกิดผลกระทบกับผู้ประกอบการเซาน่า และอีกอย่างหนึ่งจะเป็นการชี้ชวนให้คนไปเซาน่ากันมากขึ้น?

คุณผู้อ่านทราบมั๊ยครับ เฉพาะกทม. อย่างเดียวมีเซาน่ากว่า 30 แห่งแล้วนะครับ

ตัวผมเองคิดว่า คนไปเซาน่ากันก็มีกันเยอะอยู่แล้ว บางแห่งในคืนวันเสาร์ ผู้คนพลุกพล่านราวตลาดสด และผมก็คิดว่า หนังเรื่องนี้คงไม่ได้ทำให้เจ้าของกิจการร่ำรวยขึ้นกว่าเดิม เซาน่าก็เป็นสถานที่หนึ่งที่ใช้สำหรับดำเนินเนื้อเรื่อง เรื่องราวของตัวละครที่อยู่ในนั้นต่างหากที่สำคัญ

หลังจากฟังความเห็นจากหลายๆ ฝ่ายแล้ว ทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย ผมกับทีมงานก็เห็นว่า เพื่อความสมานฉันท์ ผมจะไม่ใช้ชื่อนั้นสำหรับหนังเรื่องนี้ แต่อาจจะใช้สำหรับเวอร์ชั่นที่จะฉายต่างประเทศ เพราะตัวแทนหนังต่างประเทศบอกว่า ชอบชื่อเซาน่า สงสัยเป็นเพราะผู้คนที่นั่นเคยชินกับหนังที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเกย์อยู่แล้ว และไม่คิดจะเกิดประเด็นร้อนแรงอะไรในสังคมของเค้า

อีกชื่อที่คิดกันขึ้นมาได้คือ “Hot Chocolate & White Towels” น่าจะเหมาะสำหรับเรื่องนี้ที่มีปมขัดแย้งหลายๆ อย่างปนๆ อยู่ ช็อกโกแลตร้อนกับผ้าขนหนู มันเกี่ยวอะไรกันนะ?

ในเรื่อง ตัวเอกเข้าใจผิดว่า ในกล่องช็อกโกแลตมีช็อกโกแลต แต่ที่จริง มีเงินสินบนก้อนโตซ่อนอยู่ เขาหลบหนีผู้ร้าย แล้ววิ่งเข้าไปในเซาน่า (คลับสำหรับผู้ชาย) ในนั้นเขาเจอผู้ชายในผ้าขนหนูสีขาวเดินไปเดินมา โชคดีเขาเจอเกย์นิสัยดีคนหนึ่งที่คอยเป็นเพื่อนกับเขา (พอๆ กับจะคอยแต๊ะอั๋งเขาไปพลางๆ) เขาเจอเพื่อนที่ทำงานที่แอบมาเที่ยว เจอกลุ่มนักดนตรีวัยรุ่นมาเปิดการแสดงในนั้น เจอน้องชายตัวเองใส่ผ้าขนหนู และแถมยังเจอแฟนสาวกับเพื่อนของหล่อนบุกมาถึงที่ เรื่องราวอลหม่านมากขึ้น เมื่อทุกๆ คนมาปรากฏตัวขึ้นพร้อมกัน และต้องแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

ชื่อเรื่องนี้ก็น่าจะเหมาะใช่ไหมครับ เพราะอะไรๆ ที่ไม่น่าเกี่ยวกัน แต่มาอยู่ด้วยกันได้ในสถานที่เดียวกัน แต่มันยาวจัง และไม่รู้จะตั้งภาษาไทยยังไงดี

ก็เลยเปลี่ยนใจอีกแล้ว กลับมาความคิดเดิมเรื่องสถานที่ที่เกิดเหตุ ในเมื่อใช้ชื่อว่า เซาน่าไม่ได้ ก็ตั้งชื่ออื่นไปเลยให้ที่มีความหมายใกล้เคียง ผมคิดว่ายังงั้น ในเมื่อสถานที่เกิดเหตุเป็นที่ของคนเฉพาะกลุ่ม ผู้หญิงก็ห้ามเข้า สาวประเภทสองก็เข้าไม่ได้ มันเป็นสถานที่ที่ชรช. เข้ามาหาความสำราญ และพักผ่อนส่วนตัวผม ก็เลยเสนอว่า ให้ใช้ชื่อว่า เป็น “คลับ” ส่วนคำว่า “M2” ก็ย่อมาจากคำว่า M2M คนใช้เว็บประจำจะเข้าใจดีว่า M2M หมายถึง Man To Man = ผู้ชายกับผู้ชาย

ท่านผู้อ่านที่เคยได้ชม เรนโบว์บอยส์ เดอะมูฟวี่ ภาพยนตร์เรื่องแรกของเราจะพบว่า เรื่องนี้แตกต่าง และเรากล้าที่จะนำเสนอยิ่งขึ้น หนังเรื่องแรกเหมือนปฐมบทแห่งการสร้างความเข้าใจ หนังเรื่องนี้เริ่มขยายวงงออกไปสู่ประเด็นอื่นๆ โดยเฉพาะ เรื่องความสัมพันธ์ของคนที่ผู้ติดเชื้อเอชไวอี กับคนที่ไม่ได้ติดเชื้อ เป็นประเด็นที่พวกเราต้องเตรียมการบ้านกันเยอะ

เอดส์ กับ เอชไอวี ไม่เหมือนกันนะครับ แต่คนส่วนใหญ่คิดว่าเหมือนกัน และเราก็เที่ยวตั้งแง่รังเกียจ ทั้งๆ ที่หลายคน ไม่เคยให้เวลารับรู้เรื่องสำคัญเหล่านี้ หนังเรื่องนี้พยายามสร้างความเข้าใจ แต่เราไม่ใช่หนังสารคดี ในเรื่องนี้ คุณไพบูลย์ เจ้าของ Club M2 เป็นผู้ติดเชื้อ เขามีแฟนหนุ่มหล่อ ทั้งสองรักกันมาก

เราเพียงอยากจะบอกว่า คนติดเชื้อ ก็ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้ และมีเพศสัมพันธ์ได้ เขาไม่ใช่บุคคลน่ารังเกียจ

ขณะที่ความรักและบทเลิฟซีนของทั้งสองเป็นไปอย่างโรแมนติค เราก็อยากนำเสนออีกภาพหนึ่งของรักวัยรุ่นที่ร้อนแรง เต็มไปด้วยความปรารถนาจากตัวละครวัยรุ่น ผมอยากจะขอบคุณนักแสดงทั้งสองคู่นี้มากที่ทุ่มให้จนสุดตัวนะครับ สำหรับฉากยากๆ ทั้งๆ ที่บางคนในนั้นก็ไม่ใช่ชายรักชายแต่ต้องมาเล่นบทเลิฟซีนกับผู้ชาย ผมคิดว่า นี่คือสปิริตของการเป็นนักแสดง และการเป็นมืออาชีพที่แสดงแล้วคนดูเชื่อตาม

Club M2 อาจเป็นอีกเรื่องที่คุณดูแล้วรักตัวเอง และรักคนอื่นๆ ในสังคมมากขึ้น เราหวังว่าอย่างนั้น ขอเชิญชวนไปชมกันนะครับ

ติดตามตัวอย่างหนังและความคืบหน้าของ Club M2 ได้ที่เว็บ www.cyberfishmedia.com, www.thailandout.com และ www.BKKTV.com รอบ Sneak Previews วันที่ 26-27 นี้ ชมก่อนใคร เวลาสองทุ่ม หนังฉายจริงวันที่ 5 กรกฎาคมที่ House RCA เช็ครอบฉายที่ www.houserama.com 0-2641-5177-8.

-end-
All rights reserved.